ดำรงชีวิตในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ !

มีคนถามกันมากว่าในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะดำรงชีวิตอย่างไร ?   ก็ขอตอบว่า   ในภาวะเศรษฐกิจเช่นี้  จะต้อง...เรียนรู้  รับรู้  ยิ้มสู้  อยู่อย่างมีความหวัง...
⇒  เรียนรู้... คือ  ต้องเรียนรู้สภาวการณ์ สถานการณ์ของบ้านเมืองให้รู้อย่างถ่องแท้ว่า  อะไรเป็นอะไรเสียก่อน  คือ...

♦ไม่มีอะไรเป็นไปตามที่คาดฝัน
♦เกิดปัญหาต่อสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์
♦บ้านจัดสรรขายไม่ออก
♦ดอกเบี้ยไม่บาน
♦โรงงานปิด
♦ชาวบ้านไม่ได้ราคาสินค้าผลผลิต
♦พระไม่มีกิจนิมนต์
♦คนจบการศึกษาใหม่ไม่มีงาน
♦รัฐบาลไม่มีภาษีพัฒนาประเทชาติ

            ทั้ง   9  ข้อนี้   ตกอยู่ในสถานการณ์ "ก้าวหลัง"   ไม่ใช่  "ก้าวหน้า"   ซึ่งทุกคนควรใคร่ควรพิจารณาในแต่ละประเด็นก็จะเห็นชัดเจน  เรียกว่า  "เดือดร้อนกันทั่วหน้า"  จากการเดือดร้อนทั่วหน้า  ก็เข้าสู่ "เดือดร้อนกันทั่หล้า"  นี่คือ...  ความจริงวันนี้ !
 ⇒   รับรู้...  คือ  ต้องรับรู้วิธีการดำรงชีวิต "ให้ได้"  ไม่ใช่ "ต้องได้"  คิดเสียว่า...  พอเป็นพอไป   แล้วร่วมกันรับรู้ว่า  รับทำ  คือ...

♦ยอมรับความเป็นจริง
♦ทิ้งความเคยชิน
♦อยู่กินอย่างประหยัด
♦หักเลี้ยง  หัดปลูก
♦ทำความเข้าใจกับลูกหลาน
♦อย่าเกี่ยงงาน
♦บริหารทรัพย์สินด้วยบัญชีครัวเรือน

เรื่อง  "ยอมรับความจริง" นั้น   ทุกคนต้องยอมรับ  วิธีการยอมรับความจริงก็ขึ้นอยู่กับคาถาที่จะพึงท่องบ่นภาวนา ดังนี้ คือ...

+มันไม่มีใครดีไปกว่าใคร
+มันก็พอ ๆ  กันนั่นแหละ
+อะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิด
+เป็นอะไร   ก้เป็นกันว่ะ  และ
+เรื่องเท่านี้   สีทนได้

 ⇒    ยิ้มสู้...  ยามนี้ต้อง...  ลบรอยย่นระหว่างคิ้ว  ด้วยการ  สร้างรอยพริ้วขึ้นเหนือริมฝีปาก   คือต้องยิ้มเพื่อลบรอยย่น  "รอยทุกข์กระจุกอยู่ที่หัวคิ้ว  รอยสุขพริ้วที่ริมฝีผาก"   ลองยิ้มดูสัก  5  วินาที   ก็จะพบว่าสุขเกิดขึ้นทันที   ทุกอย่างมันอยู่ที่ว่าจะ "ยิ้มสู้"   หรือไม่เท่านั้น   
           เรื่องยิ้มสู้นี้  ไม่ใช่ใครสอนเราหรอก  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สอนเราให้ยิ้มสู้  ซึ่งก็ควรไปซื้อเพลงพระราชนิพนธ์ชุดที่มีสุเทพ  เกิดกำแหง, ธานินท์  อินทรเทพ  ฯลฯ  มาฟัง   แล้วก็ขอให้ฟังเพลงยิ้มสู้หลาย ๆ  เที่ยว   จะได้สัมผัสปรัชญาขององค์ราชันว่ายิ้มสู้น้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  เป็นปรัชญาธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระราชทานให้พสกนิกรไทย  อย่าคิดว่าเป็นเพลงอย่างเดียว  แต่จงคิดว่าเป็นว่าเป็น... อภิปรัชญา  ครั้นเมื่อฟังจบแล้วจงหัดยิ้ม  คือ...

♦ยิ้มให้โลก  (คือขอบคุณโลกที่ให้เราอาศัย)
♦ยิ้มให้ลูก
♦ยิ้มให้ตัว (ขอบคุณพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูและชีวิตสัตว์)
♦ยิ้มให้เมีย (สามียิ้มให้ภรรยาคือเมียเรา อย่ามัวแต่ยิ้มให้เมียชาวบ้าน  แล้วทำหน้ามันใส่เมียตัว จะกลายเป็นผัวเฮงซวย)
♦ยิ้มให้ผัว (เมียก็จงยิ้มให้กำลังใจสามีของตน อย่าไปยิ้มให้สามีคนอื่น ขอให้รู้ว่าผัวตัวเองเรา ต้องทำหน้าชื่นบาน  ส่วนผัวชาวบ้านชั่งหัวมัน)

   ถ้าทุกท่าน  ยิ้มให้โลก  ยิ้มให้ลูก  ยิ้มให้ตัว  ยิ้มให้เมีย  ยิ้มให้ผัว   ยิ้มแล้วจะชื่นหัวใจ  ต่อจากนั้นก็ต้องยิ้ม  ๆ ๆ  ให้เป็นอุปนิสัย คือ...
 

►ยิ้มแย้มแจ่มใส
►ยิ้มให้เพื่อนร่วมงาน
►ยิ้มต้อนรับผู้ใช้บริการ
►ยิ้มแย้มให้ใคนในบ้าน
►ยิ้มหวาน ๆ ให้คนในเมืองไทย
►ยิ้มให้กำลังใจแก่คนทั้งโลก

       ⇒    อยู่อย่างมีความหวัง...  นี่ก็จากปรัชญาธรรมในเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  คือ  เพลงชะตาชีวิต  เพลงนี้ถ้าผู้ใดได้ฟังแล้วจะรู้ว่าการ  ไม่ท้อต่อชีวิต  ไม่คิดฆ่าตัวตาย  ไม่หงอยเหงา  ไม่เศร้าสร้อย  ไม่คอยโชคชะตา  ไมรอเทวดามาช่วย   แล้วพึ่งพาตน  ถึงขาดบิดา  ขาดญาติทางบิดา  แต่ก็มีมารดาเป็นแสงจันทร์   คำพูดที่สำคัญก็คือ...

"สักวันบุญมาชะตาคงดี"

            อยากจะขอร้องมายังท่านทั้งหลายว่า...

อย่า..จิตใจฝ่อ
อย่า...ท้อต่อชีวิต
อย่า...คิดฆ่าตัวตาย
อย่า...ขายยาเสพติด
อย่า...แก้เศรษฐกิจด้วยการพนัน
อย่า...เย้ยหยันคนอื่น

พระราชวิจิตรปฏิภาณ (เจ้าคุณพิพิธ)
20 มค.52