ธรรมมาภิบาล ในการบริหารยศ-ศักดิ์

อยากกราบเรียนถามท่านครับ...เรื่องวัดโสธร (ฉะเชิงเทรา)  เป็นอย่างไรบ้าง ?
นี้คือคำถามของโยมท่านหนึ่งที่นั่งฟังการบรรยายธรรม......

          คำถามนี้คงจะคาหัวใจของคนจำนวนไม่น้อย ถ้าเป็นพระนักวิชาการหรือเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ไปบรรยายธรรม ณ ที่ใดใด ก็คงจะต้องเจอคำถามข้างต้นนี้ หรือแม้แต่วงการพระด้วยกันก็คงจะต้องถามกัน

          อาตมาเมื่อได้ฟังคำถามนี้แล้ว  ก็ตอบทันทีว่า...

ไม่รู้
อยู่ไกล
ไม่ใช่หน้าที่
ไม่มีอำนาจ

             คำตอบนี้ทำให้ผู้ถามผิดหวัง  แต่ก็ได้บอกว่า..เอาล่ะ !  เมื่อถามแล้วก็จะตอบให้เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่การบริหารเองค์กร  ในฐานะที่อาตมาเคยเป็นเลขานุการรองเจ้าคณะภาค เลขานุการเจ้าคณะภาค เลขานุการวัด ฯลฯ  จะเอาความผิดพลาดและความสำเร็จในการบริหารงานมาเป็นเรืองบรรยายเสียวันนี้เลย  เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ "ท่าน และ  การบริหารองค์กร"
          การที่ปฏิเสธในการตอบคำถามอย่างข้างต้นนั้น  เพื่อตัดความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องที่มิใช่เรื่องของตัว  เพราะยึดตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนเรื่องให้คนทำประโยชน์ของตนให้สมบูรณ์  แล้วจึงเกื้อกูลต่อคนอื่น อีกทั้งยึดถือคำสอนแต่โบราณว่า... "ไม่เรียกอย่าขาน ไม่วานอย่าไป  ไม่ใช่เรื่องของเราช่างเขาประไร" แต่ที่ตอบว่าจะเปลี่ยนหัวข้อบรรยาย  ก็เพราะยึดเอาสถานการณ์เฉพาะหน้ามาเป็นประเด็นในการพูดคุยให้เกิดประโยชน์  เหมือนกับที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้วิธี... "ปรารภเหตุปัจจัย  หันเข้าหาเรื่องในอดีตกาล  ทรงประทานคำสอน"...
          หลักของการเขียน  การเทศน์  การบรรยายธรรม  อาตมาก็ยึดหลักปฏิบัติ  และแนะนำให้พระนักเขียน  นักเทศน์ ได้นำไปใช้ คือ... "ปรารภเหตุปัจจัย  หันเข้าหาคำสอนของพระพุทธเจ้า  วางเค้าโครงเรื่อง  หาเรื่องปรุงรส กำหนดลีลาแสดง"
          ในฐานะที่เคยยุ่ง ๆ  เกี่ยว ๆ  กับการแต่งตั้งพระสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งทางการปกครอง  และเสนอการแต่งตั้งสมณศักดิ์  จึงใคร่จะขอแนะนำวิธีการของนักปกครองที่ประสบความสำเร็จโดยยึดวิธีการของ ๒ สมเด็จ  คือ  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม  จันทะสิริ)  อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม  ซึ่งท่านมรณะภาพเมื่อ  พ.ศ. ๒๕๒๖  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา  นำเสนอ  และ แต่งตั้ง  โดยข้อแม้ว่า...
ปราศจากอคติ  มีวิจารณญาณ  ยึดหลักการให้มั่นคง ... รับรองไม่มีผิดพลาดอันจะเป็นผลเสียแก่ตนและแก่องค์กร

          สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม  จันทะสิริ)  เท่าที่ได้สัมผัสงานของท่านในระยะเวลา  ๗  ปี  ของความเป็นเจ้าอาวาส พระอุปัชฌาย์  และเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ  ท่านจะรับใครและแต่งตั้งพระรูปใด  ท่านจะมีวิธีการ  "ดูแวว  คือ  แวววาม  และแววไว"  ประมวลและแยกแยะได้  ดังนี้

      ๑. ดูหน่วยก้าน  คือดูบุคลิก  ลักษณะ  กิริยามารยาท  ดูความผึ่งผายองอาจ  ดูความเคารพและฉลาดในการโต้ตอบ

      ๒. วิชาการ  คือ ดูความรู้ในระดับที่เป็น  ไม่ดูเกิน  เพราะความรู้จริงในระดับที่เป็นสำคัญอย่างยิ่ง จึงซักถามเรื่องต่าง ๆ จนเป็นที่พอใจ

      ๓. การปฏิบัติงานที่ผ่านมา  คือ  ดูการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย  ที่สำคัญท่านย้ำเสมอว่า  ต้องเรียนรู้วิชาด้านเลขานุการด้วย

      ๔. ดูความรักความศรัทธาของตนในองค์กร  คือ  ดูความเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์กับคนในองค์กร  ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะสนับสนุนหน้าที่และได้รับการอุปการะจากผู้ที่อยู่ในระดับสูงขององค์กร

      ส่วนที่ว่าดูจากคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น  เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส  " เกณฑ์การพัฒนาตน และ การแต่งตั้งคนในยศศักดิ์" ไว้ว่า...

อุฏฐานะวะโต   สะตีมะโต สุจิกัมมัสสะ  นิสัมมะการิโน
สัญญะตัสสะ จะ ธัมมะชีวิโน อัปปะมัตตัสสะ  ยะโสภิวัฑฒะติ

      แปลว่า... ยศย่อมเจริญแก่คนขยัน  ไม่พลั้งเผลอ  ทำงานสะอาดเรียบร้อย  วางแผนดี  มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีศีลธรรม  เป็นผู้ไม่ประมาท

      เกณฑ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสนี้  เป็นทั้งคุณธรรมที่พัฒนาตน  เป็นทั้งแว่นแก้วที่ผู้บังคับบัญชาจะใช้เป็นเครื่องมือสอดส่องแต่งตั้ง  เลื่อนระดับ  ปรับเงินเดือน  เมื่อผู้ใต้บังคับและผู้บังคับบัญชามีเกณฑ์ที่ใช้ร่วมกัน  เวลาพิจารณาก็ง่ายขึ้น  เวลาไล่เลียงหรือตรวจสอบก็จะเห็นความสมบูรณ์และความบกพร่อง  ไม่ต้องมานั่งเถียงกัน  คุณธรรม ๗  ประการนี้   จึงควรเป็นสมุดสะสมงานที่ฝ่ายบริหารบุคคลจะพิจารณาและนำเสนอ  ผู้บกพร่องก็ไม่มีข้อโต้เถียง  ยอมรับกันและกัน  ผู้บังคับบัญชาก็ไม่ต้องมาเป็นศัตรูกับผู้ใต้บังคับบัญชา  ผู้บังคับบัญชาก็ไม่สามารถเอาแต่ใจตอนเองได้  ความเป็นธรรมก็เกิดขึ้น  ทุกคนก็รู้เกณฑ์ของตน ๆ  พระพุทธพจน์นี้จึงเป็น "ธรรมาภิบาลขององค์กร"  สำคัญอยู่ที่  "ผู้นำองค์กร" จะกล้าใช้ธรรมาภิบาลหรือเปล่าเท่านั้น   เพราะนักบริหาร หรือ  ผู้นำองค์กร  บางคน  ต้องการบริหารแบบ "อำนาจบาทใหญ่"  โดยหารู้ไม่ว่า... นั่นคือที่มาของความหายนะอันจะเกิดมีแก่ตนและบุคคลในองค์กร"