วันอาสาฬหบูชา คือ วันดวงตาเห็นโทษ-ดวงตาเห็นธรรม
อาสาฬหบูชา
วันดวงตาเห็นโทษ - ดวงตาเห็นธรรม
----------------------------------------------------------------------------------
ดังเป็นที่ทราบกันในหมู่ศาสนิกชนและผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาว่า “วันอาสาฬบูชา” เป็นวันที่สมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา (นับถอยหลังจากพุทธศักราช ๓๕ ปี)
การแสดงพระธรรมเทศนาแก่นักบวช ๕ รูป ซึ่งเป็นพราหมณ์พยากรณ์พุทธลักษณะ ได้แก่ โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๘ พราหมณ์พยากรณ์ และพรามหมณ์อีก ๔ รูป ซึ่งเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้พยากรณ์ในวันนั้น นักบวชโกณฑัญญะเมื่อสดับ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” จบลงแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” จึงเป็นสมัญญาของโกณฑัญญะว่า “พระอัญญาโกณฑัญญะ”
การรู้เรื่องเชิงประวัติเป็นสิ่งสำคัญอันจะนำมาซึ่งหลักฐาน แต่การเรียนรู้คำสอนในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ยิ่งมีความสำคัญ แต่อย่ามัวเอาแต่ “ตีความศัพท์” จนลืมนำเอาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรไปวิเคราะห์ปฏิบัติให้เหมาะสมเพื่อแก้วิถีชีวิตของโลกียชนให้เข้าสู่มรรควิธี ๘ ประการ
พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัพพัญญู พระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถือว่าเป็นการชี้ทิศทางให้ ๒ ประการ คือ...“ดวงตาเห็นโทษ และ ดวงตาเห็นธรรม”...
ธรรมดามนุษย์เราทุกคนนี้นั้น เวลาปกติก็กิน-นอน-เล่นสนุก เฉื่อยชา เฉื่อยแฉะ เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” คือ อยู่เสพสุข ติดสุข แต่ครั้นพอจะเอาอะไรจริงขึ้นมาก็เร่งรัดร่างกาย เวลา ดูเหมือนเอาจริงเอาจังขึ้นมาทีเดียว โหมแรงแข่งกับเวลาที่ตนเองเคยหย่อนยาน จนกลายเป็นทรมานกายสังขารของตน เรียกว่า “อัตตกิลมัตถานุโยค” เหมือนกับความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา ปกติก็ไม่ค่อยสนใจเรียน เรียนแบบกามสุขัลลิกานุโยค ฟังก็ไม่ค่อยฟัง การบ้านงานมีมือก็ไม่ค่อยทำ การทบทวนวิชาที่เรียนก็ไม่สม่ำเสมอ แต่พอใกล้สอบในวิชานั้นๆ ก็เร่งรัดตนเองดูเหมือนเอาจริงเอาจัง ไม่หลับไม่นอน ไม่ค่อยกินอะไร กลายเป็นอัตตกิลมัตถานุโยค คือ แก้ข้อบกพร่องจากความเฉื่อยชา เฉื่อยแฉะของตน ผลการเรียนการสอบออกมาก็ไม่ดี ร่างกายก็ทรุดโทรม เพราะขาดความเพียรอย่างสม่ำเสมอซึ่งเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างแบบเทียบความสุดโต่งของคนในกรณีอื่นๆ เหมือนกัน แต่ถ้าคนเราทำอะไรแบบสม่ำเสมอใน “ภารกิจ - หน้าที่การงาน, กรรมบถ - ความดี, กรรมฐาน - วิถีแห่งสติปัญญา ในขั้นแห่งสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน” ความสม่ำเสมออันเรียกว่า “คงเส้นคงวา” ก็จะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาของตนเองในกรรมทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้ว แต่ส่วนใหญ่คนเราทำแบบ “กรรมบถ และ กรรมฐาน” เอาตอนใกล้ๆ จะตาย จึงกลายเป็นอัตตกิลมัตถานุโยค... “เอาดีได้ยาก เอามากไม่ได้”
คำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หากจะลองพิเคราะห์จัดกรอบแห่งคำสอนเสียใหม่โดยแบ่งต่างไปจากพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ซึ่งเรียกว่า “ไตรปิฎก” คือ ตะกร้าคำสอน จะเห็นลักษณะคำสอน ๕ กรอบ หรือ ๕ ตะกร้า คือ
- สอนหน้าที่หลัก
- สอนให้รู้จักหน้าที่การงาน
- สอนให้บริหารจิต
- สอนให้เตรียมชีวิตไว้โลกหน้า
- สอนให้ดับกิเลสตัณหาเข้าสู่พระนิพพาน
๕ ตะกร้าคำสอนนี้เป็น “How to…” ที่ละเอียดละออ ขยายผลของคำสอนตามวัยและบทบาทของผู้ปฏิบัติ เป็นคำสอนอัศจรรย์ ซึ่งคำสอน ๔ กรอบแรกมีในทุกศาสนา แต่การสอนให้ดับกิเลสตัณหามีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงควรที่จะถามตนเองว่า...“เวลาฟังธรรม ศึกษาพระธรรม ตนเองต้องการอะไรไปใช้ในชีวิต”... หาคำตอบให้พบแล้วลงมือฟัง-อ่าน-พิเคราะห์ แบบโยนิโสมนสิการ คือ “รู้ไว้ ใช้เฉพาะหน้าและล่วงหน้า” ส่วนอื่นๆ นั้นอาจจำเป็นต้อง “รู้ไว้ ใช้ทีหลัง” เช่น จะให้เด็กเรียนกรรมฐาน จะต้องรู้ว่าเอากันขนาดไหนในวัยเด็ก มิเช่นนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ใดใดต่อเด็ก เด็กก็จะเบื่อหน่าย เอาไปใช้ในกรรมกิจและกรรมบถสมกับวัยปัจจุบันไม่ได้เลย โรงเรียน และ พระทั้งหลายก็นิยมให้เด็กนั่งกรรมฐานแบบ “ลมปราณเลื่อนลอย” เมื่อลมปราณเลื่อนลอย จิตก็ถดถอยและฟุ้งเหมือนนุ่นปลิวไปตามลม พระก็จะสรุปว่า “เป็นบุญ”
เรื่องมรรคมีองค์แปดในพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรก็เช่นเดียกัน สอนกันสอดคล้องกับชีวิตเด็กในวัยเรียนกันหรือเปล่า? ส่วนใหญ่แล้วเอามรรคมีองค์แปดของผู้ใหญ่หรือของผู้มีภูมิปัญญาเข้าขั้นอริยบุคคลไปยัดใส่ให้เด็ก เด็กก็ไม่เห็นคุณค่าของมรรคแปด ก็จะพากัน “แบกหามมรรคแปด” มากว่าจะเดินตาม
“มรรคแปด” ของคำในเครื่องหมายคำพูดนี้เป็นโจทย์ที่ผู้สอนจะต้องสังวรระวัง วิเคราะห์จัดมรรคแปดให้สอดคล้องกับชีวิตของแต่ละวัยและภูมิปัญญาของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม
โรงเรียนยานนาเวศ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร จัดเทศน์มหาชาติมหาเวสสันดรชาดก นิมนต์อาตมาให้ไปเทศน์กัณฑ์นครกัณฑ์ ซึ่งเป็นกัณฑ์ที่ ๑๓ คือเป็นกัณฑ์สุดท้าย ครูที่ติดต่อไปก็ขอให้เทศน์อริยสัจจ์สี่ ตามโบราณประเพณีที่ปฏิบัติมา จึงถามถึงกลุ่มผู้ฟังว่าเป็นกลุ่มใด ก็ได้รับคำตอบว่าส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมฟังด้วย
เมื่อโจทย์ออกมา ๒ วัยเช่นนี้ก็ต้องเลือกเอาว่าจะเอากลุ่มใด ระหว่าง วัยรุ่น กับ วัยโรย จึงได้นำมรรคแปดมาวิเคราะห์ให้เหมาะแก่วัยเรียนวัยรุ่น ส่วนวัยโรยซึ่งประกอบด้วยครูและบุคคลภายนอก ก็ควรรู้แบบเดียวกับวัยเรียน แต่ควรให้รู้เพื่อ “ชี้แจง, ชี้แนะ, ชี้นำ” ให้เด็กเดินทางมรรค มิใช่ให้เด็กเดินแบกมรรค
เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่จะได้ทำ “ทิศทางแห่งมรรคแปด” แก่วัยเรียน วัยรุ่น เรียกโก้ๆ ว่า Road map ก็ได้ ผู้ปกครองและครูควรวางแผนการเรียน การสอน ความประพฤติของวัยเรียนวัยรุ่นให้เดินเส้นทางมรรคแปด ดังนี้ (อ่านเฉพาะภาษาไทยก่อนแล้วค่อยดูภาษาบาลีในวงเล็บ ถ้าเป็นผู้นับถือศาสนาอื่นก็อย่าเอาภาษาบาลีไป และอย่ารังเกียจมรรคแปดของพระพุทธเจ้า ให้ทำใจเหมือนเราใช้ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ร่วมกัน คือทุกคนใช้ได้ ปลอดภัย ถึงจุดหมายปลายทางได้เร็ว ประสบสิ่งที่มุ่งหวังตั้งใจ)
ทฤษฎีปลูกฝังนักเรียนในมรรคแปด
•ปลูกฝังทัศนคติในการพึ่งพาคนอื่น - พึ่งพาตน
(สัมมาทิฏฐิ)
•ฝึกฝนการเป็นคนช่างคิด - ช่างทำ
(สัมมาสังกัปปะ)
•ฝึกพูดแต่คำน่ารัก และ เป็นประโยชน์
(สัมมาวาจา)
•ฝึกไม่เป็นคนชั่วโฉดในการทำรายงาน - การบ้าน - สอบแบบทุจริต
(สัมมากัมมันตะ)
•ดำรงชีวิตในระเบียบวินัย - ศีลธรรม - กฎหมาย
(สัมมาอาชีวะ)
•ขวนขวายแบบพึ่งพาตนเอง
(สัมมาวายามะ)
•เคร่งในเวลา - ตาราง
(สัมมาสติ)
•ไม่ละวางในปณิธาน
(สัมมาสมาธิ)
การวางแผนการเรียน การสอน การอบรม จะมีรายละเอียดอย่างไร ก็ต้องจัดประชุมวางแผน ใส่วิชาการ ข้อปฏิบัติ วิถีชีวิต กฏระเบียบ และต้องปลูกฝังให้เด็กมีปัญญาและยังเห็นว่ามรรคแปดเป็นซุปเปอร์ไฮเวย์ของพวกเขา พวกเด็กก็จะพากันเดินตามทางมรรคแปดด้วยความศรัทธา เพราะเห็นความสุขและอนาคตในเบื้องหน้า แล้วเขาก็จะเป็นผู้ถ่ายทอดมรรคแปดให้เด็กรุ่นต่อๆ ไป แหละเมื่อถึงวัยแต่ละช่วงวัย พวกเขาก็จะพากันขยับขยายมรรคแปด จนถึง มรรค ผล นิพพาน
มรรคแปด เป็นทางสำหรับเดินอันต่อเชื่อมถึงกัน ขอให้ ครู ผู้ปกครอง พระสงฆ์ วางแผนให้เด็ก “เดินบนมรรคแปด” เถิด อย่าให้เขา “แบกมรรคแปด” เลย ถนนน่ะ...เขาทำเอาไว้ให้เดิน ไม่ใช่ทำเอาไว้ให้แบก... เพราะอาตมาตอนเป็นเณรเล็กๆ ก็แบกมรรคแปดจนหลังแอ่นมาแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้สอบได้ แต่มาใช้มรรคแปดได้ก็ตอนกว่า ๕๐ ปี