นานาทัศนะ-หลากหลายสารธรรม

          วันอาทิตย์ที่  ๓  กรกฎาคม  ๒๕๕๔   เป็นวันเลือกตั้งใหญ่  บทความวันนี้จึงต้องระวังที่จะต้อง...

                                                            ไม่ให้คุณแก่คนที่เราโปรด

                                                            ไม่ให้โทษแก่คนที่เราไม่ชอบ

            คำว่า “เรา”  คือนักเขียน  ข้าราชการ  นักวิจารณ์การเมือง   จะต้องตั้งอยู่ในความยุติธรรม   ถ้าไม่มีความยุติธรรม   ก็ต้องมีความยับยั้งชั่งใจ    เกรงกลัวกฎหมาย    และระวังเป็นผลร้ายแก่ตนเองและสังคมประเทศชาติ

            เพื่อให้เป็นประโยชน์ในช่วงปรับเปลี่ยนทางการเมืองเสี่ยงจะมีผลต่อประเทศชาติ      และจะมีผลต่อข้าราชการประจำ  จึงขอเตือนสตินักการเมือง  ดังนี้

                                                            อย่าลืมคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้

                                                            อย่าให้ประชาชนเสียความไว้วางใจ

                                                                                                                                                   อย่าเข้ามาหาผลกำไรกับภาษี

                                                                                                                                                   อย่าเป็นเศรษฐีเพราะสัมปทาน

                                                                                                                                                   อย่ารังแกข้าราชการที่เป็นคนดี – และมีความสามารถ

                                                                                                                                                   อย่าประมาทเรื่องกรรมเวร

            นักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่ง   บางคนก็ได้เข้ามาสู่ตำแหน่งเดิม    กระทรวงเดิม   หรือตำแหน่งใหม่  กระทรวงใหม่  ใคร่ขอให้รู้สัจธรรมความจริงว่า

                                                ยามมียศ              คนคด              ก็คราคร่ำ

                                                ยากตกต่ำ             คนคด              ก็หดหาย

                                                ยามมีเงิน             ขี้ขอ                  รอเรียงราย

                                                ยามหมดเงิน        ขี้ขอหาย           ไม่เห็นเงา

            สำหรับนักการเมืองที่มิได้กลับมาสู่ตำแหน่งเดิม   หรือไม่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งใหม่    ขอให้มีใจเข้าถึงโลกธรรม  ๘  ประการ  คือ  ได้ลาภ  เสื่อมจากลาภ,  ได้ยศ  เสื่อมจากยศ,  ได้รับการสรรเสริญ   ถูกเยาะเย้ยและนินทา,  ได้สุข  ประสบทุกข์  นี่คือ “โลกธรรม”  ที่ปรากฏแก่ทุกคนในวันใดวันหนึ่ง  จะปรากฏชั่วคราวหรือถาวร  ก็สุดแล้วแต่  แต่ขอให้เรียนรู้  ทำใจ  จึงขอฝากเป็นข้อคิดต่อนักการเมืองและท่านผู้อ่านว่า

                                                สิ้นยศและหมดศักดิ์                    สิ้นคนรักคนภักดี

                                                ออกงานที่นั่น – นี่                       ไร้เก้าอี้ที่จะนั่ง

                                                รายใหม่มาใหญ่แทน                    คนแห่แหนกันคับคั่ง

                                                แห่ห้อมล้อมหน้า – หลัง               เพราะเขาหวังความเจริญ

                                                นายเก่าก็เศร้าใจ                            ออกงานใดให้เคอะเขิน

                                                ทักคนคนยังเมิน                           เดินจากไปไร้คนส่ง

                                                      นี่คือสัจธรรม                          ที่ควรนำมาปลดปลง

                                                ดับกลุ้มดับลุ่มหลง                       ในยศศักดิ์จักสุขแล

            ท่านผู้อ่านที่สนใจการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศคงเห็นการเมืองใน  ๓ มุม  คือ

                                    การเมือง...         ทำประชาชน      ให้เป็น      วีรชน

                                    การเมือง...         ทำวีรชน            ให้เป็น      ทรชน

                                    การเมือง...         ทำวีรบุรุษ          ให้เป็น      รัฐบุรุษ

                                    การเมือง...         ทำวีรบุรุษ          ให้เป็น      โมฆบุรุษ

            นักการเมืองที่เคยเป็น วีรชน  กลายเป็น ทรชน,  วีรบุรุษ  กลายเป็น  โมฆบุรุษ  เพราะการเมืองมี  ๓ ช่วง คือ

                                    ช่วงต้น              ตั้งใจเข้าไปแก้ปัญหา

                                    ช่วงกลาง           ลุ่มหลงในเงินตรา  ยศถาบรรดาศักดิ์

                                    ช่วงท้าย             มีความผิดเป็นชะนักติดตัว

            นักการเมืองที่เข้าถึงช่วงกลางในตำแหน่งรัฐมนตรี   หรือนายกรัฐมนตรี   หรือประธานาธิบดี   และตำ

แหน่งเกิน  ๒  ปี  มักติดลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  อีกทั้งอยากอยู่ในตำแหน่งยั่งยืนนาน  เพื่อความสุขของตนเอง  ครอบครัว     บริวาร    ซึ่งเริ่มคิดแผนการโกงกิน    ฉ้อฉล    ข่มขู่ข้าราชการ     ขอ (ทาน) จากนักธุรกิจ     ทุจริตสัมปทาน  ให้บริวารมีโอกาสโกงกิน  ฝากทรัพย์สินไว้กับบริวาร  และฝากไว้ในธนาคารต่างประเทศ (ซ่อนเงิน)

ครั้นเมื่อมีคู่แข่งในการเมืองครั้งต่อไป  ก็มักใช้บริวารรังแก  ข่มขู่  ฆ่า  เพื่อครองอำนาจต่อไป  แต่แล้ว...แต่แล้ว

กฎกรรมก็คงเป็นกฎกรรม    สุดท้ายก็มักถูกประชาชนโค่นล้ม   ถูกขับไล่   ถูกฟ้องศาล   ถ้าไม่ระเห็ดออกนอกประเทศของตน  ก็ถูกตัดสินติดคุกบ้าง  ประหารชีวิตบ้าง  ถึงเวลานั้นจึงรู้ว่า

ไม่คุ้มค่า

ไม่น่าทำ

            แต่ท่านผู้อ่านสังเกตไหม    ไม่เห็นมีใครเข็ดหลาบ    ยังมีผู้อยากเดินเข้าสู่เส้นทางวิบัติเส้นนี้   ไม่ใช่เดินธรรมดานะ   แต่วิ่งแข่งแย่งกันเดินสู่เส้นทางวิบัติทางการเมือง    และเมื่อเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง    ศีลข้อที่  ๔

ที่ถูกละเลย   เพราะต้อง “โกหก  ตลกกิน  ปลิ้นปล้อน  ค่อนขอด”   จากนั้นก็หาทางเอาทุนคืนและผลกำไร   การละเมิดศีลข้อที่  ๒   ก็เกิดขึ้น  คือการ “ฉ้อราษฎร์ – บังหลวง”  โดยแบ่ง “เงินบาป”   ออกเป็นหลายส่วน  คือ  ตัว

ครอบครัว  บริวาร   และพรรคการเมืองที่ตนสังกัด   อีกทั้งต้องเก็บไว้เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า   พวกเราลองคิดดูว่ามันเป็นเงินเท่าไร ?  คำตอบก็คือ...มหาศาล...แล้วประเทศชาติเราจะเหลืออะไรมาพัฒนา   มิน่าละ... “คนจนจึงเกลื่อนประเทศ    เพราะผีปอบผีเปรตที่แฝงมาในคราบนักการเมือง”    ความหายะ  ๒  ประการก็เกิดขึ้น   คือ นักการเมืองหายนะทางศีลธรรม  ส่วนประเทศชาติหายนะเพราะถูกโกงภาษี  ประเทศไทยของเราจึงมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกรัฐบาล  จนมีคนพูดหยาบ ๆ ว่า

                                                ...แจกกันแหลก  แดกกันจัง

                                                   ถามว่า “พวกมึงเอาสตางค์มาจากไหน ?”...

                                                ...อะไรอะไรก็ฟรี  แต่มันคือภาษีของราษฎร...

            ข้าราชการ   ข้าราชการประจำ  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  ท่านจะวางตัวอย่างไร  จึงจะถือได้ว่าเป็นข้าราชการที่ดี  เป็นหลักของบ้านเมือง   พวกท่าน...

            - ต้องสำนึกว่าตนเองเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

            - ต้องไม่ก้มหัวให้นักการเมืองที่ทำไม่ถูกต้อง

            - อย่าจ้องเอาแต่หาผลประโยชน์  และอย่าประจบประแจ

            - อย่าเลียขาเลียแข้งเจ้านายตะกายยศศักดิ์

            - อดทนต่อการกลั่นแกล้ง

            - อย่าแย่งตำแหน่งกันเองภายใน

            - อย่าเป็นหนอนบ่อนไส้ให้นักการเมือง

 

                                                                        พระราชวิจิตรปฏิภาณ