ธุดงค์ธรรมชัย
ธุดงค์ธรรมชัย
ธุดงค์หรือเดินพาเหรด-จาริกเพื่อจารึก
.....................................
กระแสวิจารณ์การเดินธุดงค์ของวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี หนาหู ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ที่หนักหนาคือสื่อออนไลน์ มีการใช้คำหยาบ ด่าทออย่างรุนแรง ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกของการเดินธุดงค์ เพระยังมีการบิณฑบาตยาตราสลับกันไป
จะให้วิจารณ์แบบนั้นคงไม่ได้หรอก แต่ใคร่ขอให้ทั้งวัดพระธรรมกาย และประชาชนต้องทำความเข้าใจธุดงค์ของพระพุทธเจ้าให้ดีเสียก่อนว่ามีพุทธประสงค์อย่างไรที่ทรงบัญญัติธุดงค์สำหรับภิกษุสามเณร
แต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ มีการบำเพ็ญเพียรของนักบวชประเภทฤาษี ชีไพร มีการทรมานกายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ความทุกข์ทรมานที่เกิดจากร่างไปทำลายกิเลส บางลัทธิก็เพ่งพระอาทิตย์ ยืนเท้าเดียว นอนบนวัตถุมีคม บ้างก็กำมือบริกรรมจนเล็บทะลุหลังมือ บ้างก็เปลือยกาย บ้างก็บูชาไฟให้ร่างกายเร่าร้อน จิตเมื่อยู่กับทุกขเวทนาก็จะลืมกิเลส การบำเพ็ญอย่างนี้เรียกว่า “ตบะ” คือการทรมานร่างกายเพื่อเผากิเลส แม้เมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าออกบวชก็บำเพ็ญเพียรอย่างนั้นเหมือนกัน เรียก “ทุกกรกิริยา” หลายวิธีการจนกระทั่งอดอาหารทรมานกาย และทรงบำเพ็ญได้ยิ่งกว่านักบวชในครั้งนั้น จวบจนกระทั่งพระอินทร์ดีดพิณ ๓ สาย จึงทรงได้สติ และหันมาบำเพ็ญแบบมัชฌิมาปฏิปทา เพราะทรงสัมผัสได้ว่า มารที่ขัดขวางความสำเร็จ มี ๕ ประการ ข้อแรก คือ “ขันธมาร” แปลง่าย ๆ ว่า “เมื่อร่างกายวิปริต จิตก็วิปลาส” เอาแค่ปวดหัวก็หมดสติปัญญาแล้ว ถ้ายิ่งกว่านั้นปัญญาจะเหลืออะไร จึงตรัสไว้ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า... การทรมานตน เป็นทุกข์ ไม่ใช่วิธีประเสริฐ หาประโยชน์มิได้... นี่คือตบะแบบฤาษี ชีไพร
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงประกาศคำสอน แต่คำสอนต้องมีภาคปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสควบคู่กับการบำเพ็ญเพียรทางจิตคือสมถกัมมัฏฐาน และทางปัญญาคือวิปัสสนากัมมัฏฐาน
การฝึกภาคปฏิบัติทางกาย จิต ความเป็นอยู่ การใช้สอย การขบฉัน จึงเกิดขึ้น ทรงบัญญัติธุดงค์ แปลว่า...องค์หรือวิธีขัดเกลากิเลส... ต้อง ปวิเวกตา หลีกเร้น, วิริยาอารัมภตา ปรารภความเพียร, สันตุฏฐิตา สันโดษในปัจจัยสี่ เป็นต้น พูดง่าย ๆ คือ ละทิ้งความสุขแบบคฤหัสถ์มาปฏิบัติให้ตรงกันข้าม แต่ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่าภิกษุรูปนั้น ๆ สมัครใจที่จะบำเพ็ญธุดงควัตรข้อใดใน ๑๓ ข้อ แม้เมื่อสมาทานก็ควรปฏิญาณให้พระเถระได้ทราบ บางธุดงค์ก็ต้องแจ้งให้เจ้าของสถานที่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ทราบ ทั้งพระเถระก็ต้องควบคุมการประพฤติจนกว่าจะเข้มแข็งพอ อนึ่ง ถ้าบำเพ็ญอย่างปฏิญญาไม่ไหว ก็อาจถอนต่อหน้าสงฆ์ได้ แล้วหาวิธีปฏิบัติใหม่ ไม่ต้องไปรักษาปฏิญญาจนตัวตาย
ธุดงค์ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัตินั้นมี ๑๓ วิธีการ คือ
- ถือผ้าบังสุกุล (ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว ไม่มีผู้ถือครอง) เป็นวัตร
- ถือครองเพียงไตรจีวรเป็นวัตร
- ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร (ไม่รับนิมนต์)
- เที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร (คือไม่ย้อนกลับ)
- นั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร (มื้อเดียว)
- ฉันในบาตรเป็นวัตร
- เมื่อฉันแล้วไม่รับอาหารที่นำมาถวายในภายหลัง
- อยู่ป่าเป็นวัตร
- อยู่โคนไม้เป็นวัตร
- อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร (มีที่มุง แต่ไม่มีฝาบัง)
- อยู่ป่าช้าเป็นวัตร
- อยู่ในเสนาสนะตามที่จัดไว้แล้วโดยไม่ร้องขอ ต่อรองหรือเลือก หรือสร้างเองเป็นวัตร
- ถือการนั่งบำเพ็ญเพียรเป็นวัตร
ส่วนบริขารที่ต้องติดตัวเสมอ คือ มีดเล่มน้อย เครื่องกรองน้ำ หินลับมีด (ปัจจุบันใช้มีดโกนสมัยใหม่)กลด คือ เครื่องมุงบังอันเป็นต้นแบบของแคมป์เล็ก นอกจากน้นก็มีกระติกใส่น้ำ ปัจจุบันพัฒนารูปแบบใส่ได้ทั้งน้ำร้อนน้ำเย็น อาสนะปูนั่ง ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าเช็ดปาก ยารักษาโรคเฉพาะตัว
การธุดงค์ พระต้องจาริกไปหาสถานที่ที่ตนองสมาทานธุดงค์ด้วยการเดินจาริกไปเป็นกลุ่มซึ่งถือธุดงค์ขัดเกลาแบบเดียวกัน แต่พอถึงสถานที่แล้วก็แยกกันพอให้มองเห็นและส่งเสียงถึงกัน เพื่อการแก้ข้อขัดข้องหรือการช่วยเหลือในกรณีจำเป็น ส่วนข้อปลีกย่อยเรียกมารยาท การขอเจ้าที่เจ้าทางซึ่งเป็นภูติผี ปีศาจ เทวดาอารักษ์ ก็ต้องศึกษาธรรมเนียม ที่สำคัญต้องไม่มีทรัพย์สินมีค่าติดตัวไป หรือไม่มีวัตถุมงคลไปจำหน่ายซึ่งเป็นอเนสนาแสวงหาลาภ เมื่อปฏิบัติธรรมก็สามารถฝึกเกลาความประพฤติในการดำรงชีวิตพระ
คราวนี้ หันมาดูธุดงค์ธรรมชัยที่ดำเนินเป็นกิจกรรมอยู่ในปัจจุบันว่า ตรงกับธุดงค์ ๑๓ ประการไหม ? คำถามนี้ต้องเป็นคำถามที่วัดพระธรรมกายต้องถามตนเอง และตอบคำถามตามพุทธบัญญัติให้ได้ก่อน อย่าเถียง อย่าดื้อรั้น อย่าสร้างภาพสวยงาม
คำถามต่อมาที่ต้องถาม คือ ทำไมต้องมีการรวมพระจำนวนมากจัดระเบียบแบบโปรแกรมม์ ครองจีวรรูปแบบเดียวกัน จัดขบวนแบบแฟนตาซี ทั้งพระทั้งคน พระเดินกำหนดอะไร จุดหมายปลายทางทำอะไรในแต่ละรูป พระของวัดเสร็จการเดินจะไปปฏิบัติธรรมที่ไหนในธุดงค์ ๑๓ ข้อ พระที่นิมนต์ขนมาได้รับการถวายปัจจัยรูปละเท่าไหร่ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละครั้ง เป็นเงินลงทุนเท่าไร ต้องถามพระที่ได้รับนิมนต์และถูกบังคับด้วยว่ามันขัดเกลากิเลสลงบ้างไหม เสียงบ่นของพระที่ทั้งนิมนต์และถูกบังคับ เขาพูดลับหลังว่าอย่างไร เขาบ่น เขาด่าว่าอย่างไร ประเมินเสียงวิจารณ์ชองคนทั่วไปว่าอย่างไร หรือคิดเอาว่า “ฉันจะทำอย่างนี้ มีอะไรไหม ?” ภาพแห่งความงดงามที่ช่างภาพมีฝีมือชั้นเยี่ยมมันใช่จุดประสงค์ที่แท้จริงของธุดงควัตรของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ? มันลามไปต่างจังหวัดจนถึงแพร่ลัทธิไปถึงต่างประเทศ จนคนเข้าใจว่า “นี่ คือธุดงค์ขนานแท้” ระวัง “ผิดจะกลายเป็นครู”
ขอเรียนท่านเจ้าคุณทั้งสองรูปว่าผมเองไม่ใช่เป็นศัตรูของวัดพระธรรมกาย ความจริงผมเป็นกัลยาณมิตรตลอดมา ซึ่งท่านทั้งสองพอทราบดีว่า ผมป้องกันไว้ในหลายกรณี แต่ก็เฝ้ามองตลอดมา แม้บัดนี้ท่านอาจจะไม่รู้จักผมแล้วก็ได้ ส่วนญาติโยมที่นับถือจะโกรธก็ไม่ว่า แต่ปรโตโฆสะ คือ ฟังคนอื่นบ้างก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าโยมจะไม่ชอบหน้าก็ไม่ว่ากัน แต่ต้องสำนึกว่า “มิตรที่ดีนั้น ต้องป้องกันความเสียหายของมิตร”
...แต่ถ้ายังเดินธุดงค์แบบนี้ ก็ต้องบอกได้เลยว่า “ไม่ใช่ธุดงค์ของพระพุทธเจ้า แต่เป็นธุดงค์ธรรมชัย คือธุดงค์แบบธัมมะชะโย” ที่ถูกสร้างรูปแบบขึ้นมาด้วยการจัดแบบแฟนตาซี มีอันแต่จะเหนื่อยทั้งการจัดการ การถูกวิจารณ์จากท่านผู้รู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังดึงชื่อเสียงของพระนักปกครองคณะสงฆ์ที่หลงนิมนต์และเกรงใจไปทำลายจนหมดสิ้น...
ด้วยความรักและห่วงใย
พระราชวิจิตรปฏิภาณ
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘